ก๊าซธรรมชาติและโรงแยกก๊าซ

ก๊าซธรรมชาติและโรงแยกก๊าซ
ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นสารไฮโดรคาร์บอนที่ก่อกำเนิดและสะสมตัวอยู่ใต้ผิวโลกนั้นมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างโมเลกุลของสารไฮโดรคาร์บอนที่เป็นองค์ประกอบ บางแหล่งประกอบด้วยสารไฮโดรคาร์บอนจำพวกมีเทนอย่างเดียว บางแหล่งประกอบด้วยสารไฮโดรคาร์บอนผสมกันหลายชนิด อันได้แก่ มีเทน อีเทน โพรเพน บิวเทน เพนเทน เฮกซ์เซน และอื่น ๆ สัดส่วนขององค์ประกอบเหล่านี้ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมของก๊าซแต่ละแหล่งที่พบ
ก๊าซธรรมชาติประกอบด้วยสารไฮโดรคาร์บอนหลายชนิด ดังนั้นกระบวนการแยกจึงมิได้เพียงเพื่อใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น แต่ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างอื่นอีก ก๊าซมีเทนใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรม เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตปุ๋ย และอัดใส่ถังใช้เป็นเชื้อเพลิงรถโดยสาร เอ็นจีวี อีเทน และโพรเพนใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ซึ่งประกอบด้วยโพรเพน และบิวเทน ใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้ม เชื้อเพลิงสำหรับรถ และอุตสาหกรรม แก๊สโซลีนธรรมชาติ ส่งเข้าโรงกลั่นเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันเบนซิน ก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมนั้น จะใช้สำหรับเตาเผา หม้อต้มน้ำ และเครื่องจักรไอน้ำ ส่วนก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ก็เพื่อผลิตปุ๋ย พลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ ยางสังเคราะห์ และยากำจัดวัชพืช
โรงแยกก๊าซประกอบด้วยกระบวนการหลักและหน่วยต่าง ๆ ดังนี้
1. หน่วยกำจัดสารปรอท เนื่องจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีสารปรอทปนเปื้อนอยู่ด้วย ดังนั้นโรงแยกก๊าซจึงต้องมีหน่วยนี้เพื่อกำจัดสารปรอทออกจากก๊าซ
2. หน่วยกำจัดความชื้น เพราะความชื้นหรือไอน้ำจะกลายเป็นน้ำแข็งเมื่อเข้ากระบวนการลดอุณหภูมิลงต่ำ ๆ ซึ่งจะทำให้ท่ออุดตัน ไอน้ำถูกกำจัดด้วยวิธีทางเคมีที่เรียกว่ากระบวนการกรองโมเลกุล
3. หน่วยแยกมีเทน อีเทน และคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการลดความดันและอุณหภูมิลงแล้วจะผ่านหอแยกนี้ ก๊าซส่วนบนสุดของหอกลั่นคือก๊าซเชื้อเพลิง ได้แก่ มีเทน และอีเทน ซึ่งเมื่อแยกออกมาแล้วจะส่งเข้าท่อต่อไปให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.
4. หอแยกแอลพีจี และเอ็นจีแอล ภายในหอนี้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือแอลพีจี ถูกแยกออกมาจากส่วนบน ในขณะที่ของเหลวคือ แก๊สโซลีนธรรมชาติหรือเอ็นจีแอล จะอยู่ก้นหอและถูกส่งไปลงถังเก็บเพื่อรอการขนส่งต่อไป
5. หน่วยกำจัดก๊าซไข่เน่า กระบวนการนี้เป็นกระบวนการทำความสะอาดเพื่อแยกกำมะถันออกจากก๊าซแอลพีจี เพื่อให้มีคุณสมบัติเป็นไปตามที่ผู้ใช้ต้องการ หลังจากผ่านการทดสอบในห้องปฎิบัติการ ก๊าซแอลพีจี จะถูกส่งไปยังถังเก็บเพื่อรอการขนส่งทางรถและทางเรือ

This entry was posted in ธุรกิจ and tagged . Bookmark the permalink.