ประเทศมาเลเซียมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันราวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับพื้นที่ปลูกพืชเมล็ดน้ำมัน (oilseed) ทั่วโลกกว่า 254 ล้านเฮกเตอร์ทั่วโลก แต่สามารถสร้างผลผลิตได้ราวร้อยละ 14 ของผลผลิตน้ำมันจากพืชทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศมาเลเซียในการพัฒนาการเกษตรให้ได้ผลิตผลต่อไร่สูง นอกจากนี้ มาเลเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลก ยังมีสองบริษัทยักษ์ใหญ่ที่อยู่ในธุรกิจปาล์มน้ำมัน ได้แก่ Sime Darby และ FELDA ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านปาล์มที่ใหญ่ที่สุดสองรายแรกของโลกด้วย
ความน่าสนใจของ FELDA คือการสร้างแหล่งปลูกปาล์มโดยที่เกษตรกรมีส่วนร่วมอย่างมาก FELDA เป็นของรัฐบาล และแรกเริ่มจัดตั้งในช่วงทศวรรษ 1960 โดยมีรูปแบบการดำเนินงานเป็นการจัดสรรเนื้อที่ทำกินให้แก่เกษตรกรที่มีรายได้น้อยและอาศัยอยู่ในชนบท จะได้มีเนื้อที่ปลูกปาล์มน้ำมัน หรือพืชยางพารา (ใช้เนื้อที่ราวร้อยละ 80 สำหรับปลูกปาล์มน้ำมัน และร้อยละ 10 สำหรับปลูกพืชยางพารา) โดยเกษตรกรราว 400 – 450 ครอบครัว จะได้รับการจัดสรรให้อยู่ในแหล่งทำกินหนึ่งๆ (estate) โดยแต่ละครอบครัว จะได้รับเนื้อที่ราว 25 – 35 ไร่ เพื่อใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูก และได้รับเนื้อที่ราว 1.5 ไร่เพื่อใช้อยู่อาศัย ซึ่งบ้านได้ถูกสร้างโดย FELDA ไว้แล้ว โดยชุมชนที่อยู่อาศัย ได้มีการจัดวางระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบชลประทาน รวมถึงโรงเรียนและโรงพยาบาลไว้พร้อม ส่วนการดำเนินงานของชุมชนนั้น อยู่ในรูปแบบของสหกรณ์ที่มีเกษตรกรมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ และเกษตรกรสามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้เมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่ง โดยต้นทุนในการพัฒนาที่ดินและแปลงการเกษตรราวกึ่งหนึ่ง จะถูกจัดเก็บจากเกษตรกรเป็นระยะเวลา 15 ปีนับตั้งแต่จัดตั้ง
FELDA สนับสนุนให้เกษตรกรทำการเพาะปลูก และรับซื้อผลผลิตทั้งหมดไปแปรรูปในโรงงานของ FELDAเพื่อสกัดทำน้ำมันปาล์ม หรือผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มอื่นๆ ด้วย โดยการรับซื้อผลผลิตดังกล่าวสร้างกระแสรายได้ที่ต่อเนื่องให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ FELDA ยังให้การสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อช่วยเกษตรกรในการเพิ่มคุณภาพของผลผลิต และมีการใช้เครื่องมือทางการเกษตรต่างๆ เพื่อเพิ่มผลผลิต โดยเครื่องมือต่างๆ สามารถหาซื้อและใช้ร่วมกันในแหล่งทำกินได้ เนื่องจากแปลงเพาะปลูกมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะลงทุนในการซื้อเครื่องมือทางการเกษตรต่างๆ ทำให้แปลงเพาะปลูกของ FELDA สามารถสร้างผลิตผลปาล์มต่อไร่ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงได้การจัดรูปแบบการทำการเกษตรของ FELDA มีความแตกต่างจากการเกษตรในประเทศไทย ซึ่งเกษตรกรอาจไม่ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่พอ เพื่อลงทุนด้านเครื่องจักรกล และพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตรร่วมกัน ทำให้ผลิตผลปาล์มน้ำมันเฉลี่ยของ FELDA อยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศไทยราว 11% ในปี 2011 โดยผลผลิตไทยอยู่ที่ 2,876 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่ FELDA สามารถสร้างผลผลิตได้ที่ 3,184 กิโลกรัมต่อไร่