ความสำคัญและการแข่งขันของธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยในปัจจุบัน

4

จากการเปิดเผยผลการประเมินตำแหน่งตลาดสินค้าเกษตร 4 ชนิดของไทยภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอา เซียน (AEC) ของศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งพบว่าภายใน 5 ปีนับจากปี 2553 จนถึงปี 2558 สินค้าเกษตรของไทยที่จะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในอาเซียนประกอบด้วยข้าว กาแฟ และน้ำมันปาล์ม ส่วนมันสำปะหลังไทยจะมีส่วนแบ่งการตลาดสูงขึ้นสินค้าเกษตรที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ น้ำมันปาล์ม เนื่องจากต้นทุนการผลิตต่อไร่ของไทยสูงกว่ามาเลเซียถึง 4 เท่า ราคาจำหน่ายผลปาล์มและน้ำมันปาล์มดิบของไทยสูงกว่ามาเลเซียและอินโดนีเซียมาก แต่ผลผลิตปาล์มของไทยกลับมีคุณภาพต่ำกว่า เพราะสามารถสกัดเป็นน้ำมันได้น้อยกว่า

ในความเป็นจริง การขาดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่นักวิชาการได้สะท้อนปัญหานี้มาเป็นเวลานานแล้ว งานวิจัยของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงเป็นการย้ำเตือนถึงปัญหานี้และนำเสนอหลักฐานในเชิงประจักษ์ที่สะท้อนความรุนแรงของปัญหานี้

ผมเองได้เขียนหนังสือ ‘เศรษฐกิจกระแสกลาง: ทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต’เมื่อปี 2543 หรือกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ระบุว่าอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเป็นตัวอย่างหนึ่งของอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ขาดความสามารถในการแข่งขัน แต่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยต้องเปิดเสรีมากขึ้นและเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ผมจึงได้ให้ข้อเสนอแนะในภาพรวมว่า สินค้าที่แข่งขันไม่ได้ควรเลิกผลิตไปเลย แต่หากเห็นว่าเป็นสินค้าที่เป็น ‘ปัจจัยอยู่รอด’มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารหรือพลังงานของประเทศและไม่มีสินค้าอื่นที่ทดแทนได้ดีกว่า ก็ควรเร่งพัฒนาในมีความสามารถในการแข่งขัน

แต่ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข รัฐบาลไม่มีทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ชัดเจนในระยะยาว ไม่มีแผนการเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในอนาคต อุตสาหกรรมนี้ได้รับการปกป้องจากรัฐจนขาดการพัฒนาที่รวดเร็วเพียงพอ แตกต่างจากประเทศมาเลเซียที่มีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน มีแผนการดำเนินงาน และความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอย่างเป็นระบบ

น้ำมันปาล์มกลายเป็นสินค้าการเมือง การส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในประเทศไทยจึงเป็นไปเพื่อสร้างคะแนนนิยมทางการเมือง โดยเน้นไปในทิศทางการเพิ่มปริมาณการผลิตตามแรงผลักของสถานการณ์ แต่ไม่ใคร่ให้ความสนใจด้านคุณภาพ สังเกตได้จากการส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั้งโดยตรง และโดยอ้อม เช่น การส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันเป็นพืชพลังงาน การจำกัดการนำเข้า การกำหนดราคารับซื้อผลปาล์มขั้นต่ำ (floor price) การชดเชยให้ผู้ผลิตจำหน่ายน้ำมันปาล์มในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง การอุดหนุนราคาน้ำมันไบโอดีเซล เป็นต้น

This entry was posted in ธุรกิจ and tagged . Bookmark the permalink.